ธรรมศึกษา

11111.jpg

วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๖
วิธีการที่ชาวพุทธ จะสามารถศึกษาเรียนรู้ธรรมอันเป็นคำสอน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามรูปแบบที่คณะสงฆ์จัด เรียกว่า “นักธรรม” ซึ่งเป็นหลักสูตรที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมให้ผู้ศึกษาได้เรียนรู้ไปตามลำดับขั้น ตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐาน จนถึงระดับสูงขึ้นไป คณะสงฆ์ทั่วประเทศใช้เป็นหลักสูตรสำหรับพระภิกษุสามเณรได้ศึกษา และได้ขยายการศึกษาไปสู่พุทธศาสนิกชน และเยาวชนตามโรงเรียนต่าง ๆ เรียกว่า “ธรรมศึกษา” ผู้ที่ผ่านการเรียนรู้หลักสูตรนี้ จะมีความรู้ความเข้าใจธรรมะพอสมควร เป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการศึกษาชั้นสูงและเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไป

ปัจจุบันผู้ที่มีโอกาสได้ศึกษาธรรมศึกษายังมีน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนของพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศ ซึ่งมีถึงร้อย ๙๕ ถ้าสถาบันการศึกษาซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของชาติ ได้นำหลักธรรมเข้าสู่สถาบันการศึกษาและเปิดโอกาสและเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้ศึกษาจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักเรียน สถาบันการศึกษา และต่อสังคมโดยรวม ในปัจจุบันแนวคิดการนำหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าสู่สถาบันการศึกษาเริ่มปรากฎผลให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในหลาย ๆ สถาบัน นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีและน่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง

การเผยแผ่ธรรมะของพระสงฆ์ในปัจจุบันนี้ เป็นการทำงานในเชิงรุกเพราะจะต้องนำหลักธรรมเข้าไปสู่ประชาชน จึงจะก่อให้เกิดผลดีแก่สังคมโดยส่วนรวม ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมเพื่อการพัฒนาสังคม เป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่ทำงานในด้านนี้ ได้ร่วมมือกับสถาบันอาชีวศึกษา เปิดการเรียนการสอนธรรมศึกษาขึ้นในปี การศึกษา ๒๕๔๕ จำนวน ๔ แห่ง มีนักเรียนนักศึกษารับการอบรมและเข้าสอบเป็นจำนวนมาก ปรากฎผลเป็นที่น่าพอใจ จึงขออนุโมทนาศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม และสถาบันการศึกษาที่ได้ให้ความร่วมมือกันทำงานด้วยความเสียสละ เพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมแก่นักเรียนนักศึกษาให้มีความรู้คู่คุณธรรม

ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบันดาลให้ทุกท่านประสบสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สัมฤทธิผลในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการเทอญ

การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม หรือที่เรียกกันว่า นักธรรม เกิดขึ้นตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นการศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาไทย เพื่อให้ภิกษุสามเณรผู้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาสามารถศึกษาพระธรรมวินัยได้สะดวกและทั่วถึง อันจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่สัมมาปฏิบัติ ตลอดจนเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไป

การศึกษาพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทยแต่โบราณมา นิยมศึกษาเป็นภาษาบาลี ที่เรียกว่า การศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ยากสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไป จึงปรากฏว่า ภิกษุสามเณรที่มีความรู้ในพระธรรมวินัยอย่างทั่วถึงมีจำนวนน้อย เป็นเหตุให้สังฆมณฑลขาดแคลนพระภิกษุผู้มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยกิจการพระศาสนาทั้งในด้านการศึกษา การปครอง และการแนะนำสั่งสอนประชาชน ดังนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงได้ทรงพระดำริวิธีการเล่าเรียนพระธรรมวินัยในภาษาไทยขึ้น สำหรับสอนภิกษุสามเณรวัดบวรนิเวศวิหารเป็นครั้งแรก นับแต่ทรงรับหน้าที่ปกครองวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นต้นมา โดยทรงกำหนดหลักสูตรการสอนให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา ทั้งด้านหลักธรรม พุทธประวัติ และพระวินัย ตลอดถึงหัดแต่งแก้กระทู้ธรรม เมื่อทรงเห็นว่า การเรียนการสอนพระธรรมวินัยเป็นภาษาไทยดังนี้ได้ผล ทำให้ภิกษุสามเณรมีความรู้กว้างขวางขึ้น เพราะเรียนรู้ได้ไม่ยาก จึงทรงดำริที่จะขยายแนวทางนี้ไปยังภิกษุสามเณรทั่วไปด้วย ประกอบกับใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ประเทศไทยเริ่มมีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ซึ่งภิกษุทั้งหมดจะได้รับการยกเว้น ส่วนสามเณร จะยกเว้นให้เฉพาะสามเณรผู้รู้ธรรม ทางราชการได้ขอให้คณะสงฆ์ช่วยกำหนดเกณฑ์ของสามเณรผู้รู้ธรรม สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงกำหนดหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมขึ้น ต่อมาได้ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมนั้นเป็น องค์นักธรรม สำหรับภิกษุสามเณรชั้นนวกะ (คือผู้บวชใหม่) ทั่วไป ได้รับพระบรมราชานุมัติ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ และโปรดให้จัดการสอบในส่วนกลางขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน โดยใช้วัดบวรนิเวศวิหาร วัดมหาธาตุ และวัดเบญจมบพิตร เป็นสถานที่สอบ การสอบครั้งแรกนี้ มี ๓ วิชา คือ ธรรมวิภาคในนวโกวาท แต่งความแก้กระทู้ธรรม และแปลภาษามคธเฉพาะท้องนิทานในอรรถกถาธรรมบท พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมให้เหมาะสมสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไปจะเรียนรู้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยแบ่งหลักสูตรเป็น ๒ อย่างคือ อย่างสามัญ เรียนวิชาธรรมวิภาค พุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม และ อย่างวิสามัญ เพิ่มแปลอรรถกถาธรรมบทมีแก้อรรถ บาลีไวยากรณ์และสัมพันธ์ และวินัยบัญญัติที่ต้องสอบทั้งผู้ที่เรียนอย่างสามัญ และวิสามัญ

พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยเพิ่มหลักธรรมหมวดคิหิปฏิบัติเข้าในส่วนของธรรมวิภาคด้วย เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการครองชีวิตฆราวาส หากภิกษุสามเณรรูปนั้นๆ มีความจำเป็นต้องลาสิกขาออกไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เรียกว่า นักธรรมชั้นตรี การศึกษาพระธรรมวินัยแบบใหม่นี้ ได้รับความนิยมจากหมู่ภิกษุสามเณรอย่างกว้างขวาง และแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว เพียง ๒ ปีแรกก็มีภิกษุสามเณรสมัครเข้าสอบสนามหลวงเกือบพันรูป เมื่อทรงเห็นว่าการศึกษานักธรรมอำนวยคุณประโยชน์แก่พระศาสนาและภิกษุสามเณรทั่วไป ในเวลาต่อมา จึงทรงพระดำริขยายการศึกษานักธรรมให้ทั่วถึงแก่ภิกษุทุกระดับ คือ ทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นโท สำหรับภิกษุชั้นมัชฌิมะ คือ มีพรรษาเกิน ๕ แต่ไม่ถึง ๑๐ และนักธรรมชั้นเอก สำหรับภิกษุชั้นเถระ คือมีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป ดังที่เป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์สืบมาตราบถึงทุกวันนี้ ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธฯ ทรงพิจารณาเห็นว่า การศึกษานักธรรมมิได้เป็นประโยชน์ต่อภิกษุสามเณรเท่านั้น แม้ผู้ที่ยังครองฆราวาสวิสัยก็จะได้รับประโยชน์จากการศึกษานักธรรมด้วย โดยเฉพาะสำหรับเหล่าข้าราชการครู จึงทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมสำหรับฆราวาสขึ้น เรียกว่า ธรรมศึกษา มีครบทั้ง ๓ ชั้น คือ ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ซึ่งมีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับหลักสูตรนักธรรมของภิกษุสามเณร เว้นแต่วินัยบัญญัติที่ทรงกำหนดใช้เบญจศีลเบญจธรรมและอุโบสถศีลแทน ได้เปิดสอบธรรมศึกษาตรีครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ และเปิดสอบครบทุกชั้นในเวลาต่อมา มีฆราวาสทั้งหญิงและชายเข้าสอบเป็นจำนวนมาก นับเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมนี้ มี พระพรหมมุนี (พฺรหฺมคุตฺตเถร) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง เน้นการพัฒนาศาสนทายาทให้มีคุณภาพสามารถดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วยดี ทั้งถือว่าเป็นกิจการของคณะสงฆ์ส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยมาตั้งแต่ครั้งอดีตถึงปัจจุบัน


ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแพร่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม ได้ดำเนินการเข้าอบรมศีลธรรม จริยธรรมและสอนธรรมศึกษาตามสถานศึกษาต่าง ๆ โดยมีนักเรียนนักศึกษาและประชาชนผู้สนใจทั่วไป สนใจกิจกรรมของศูนย์ฯ เป็นอย่างมากตลอดระยะเวลาในการดำเนินงานตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

เนื่องด้วยงานเผยแผ่ธรรมของศูนย์พระสงฆ์ฯ ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นทุกปี จึงทำให้การพิมพ์หนังสือคู่มือการเรียนการสอนไม่เพียงพอ ทางศูนย์ ฯ จึงได้ จัดทำคู่มือธรรมศึกษาขึ้น เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้สามารถเรียนรู้ศัพท์ธรรมะจนเข้าใจ ขยายเนื้อหาธรรมะได้อย่างถูกต้องตลอดทั้งนำหลักธรรมไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาของโรงเรียนต่าง ๆ ให้มีอุปกรณ์การเรียนการสอนอย่างเพียงพอ ทางศูนย์ฯ จึงได้จัดพิมพ์คู่มือธรรมศึกษาชั้นตรีขึ้น โดยได้รับความอุปถัมภ์จากญาติโยม บริษัทห้างร้านและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ

อนึ่ง คู่มือธรรมศึกษานี้จัดทำขึ้นเพื่อเป้นแนวทางการเรียนการสอนธรรมศึกษาของศูนย์ฯ และเผยแผ่ไปตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่ร่วมกับศูนย์ฯ เปิดสอนธรรมศึกษา การจัดพิมพ์ครั้งนี้ อาจมีข้อผิดพลาดหรือตกหล่นอยู่บ้าง หากท่านผู้เห็นข้อผิดพลาด กรุณาช่วยให้คำแนะนำมายังศูนย์ฯ จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งเพื่อจะได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นในคราวจัดทำครั้งต่อไป

คำอนุโมทนา จาก พระพรหมมุนี แม่กองธรรมสนามหลวง เมื่อ 30 มิถุนายน 2546

วัตถุประสงค์ของการเรียนธรรมศึกษา

๑. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดศรัทธาและสำนึกในความสำคัญของพระพุทธศาสนา
๒. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และซาบซึ้งในคุณของพระรัตนตรัย
๓. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและหลักธรรมอย่างถูกต้อง
๔. เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะในการคิดและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
๕. เพื่อให้ผู้เรียนรู้หน้าที่ของชาวพุทธและสามารถปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม

หลักสูตรนักธรรม

นับแต่ได้มีการตั้งหลักสูตรนักธรรมขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ หลักสูตรได้มีการปรับปรุงเรื่อยมาเป็นระยะ ทั้งในด้านเนื้อหาวิชาและตำราที่ใช้เป็นหลักสูตรหรือแบบเรียนในชั้นนั้นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้สอบนักธรรมได้ในชั้นนั้นๆ มีความรู้สมกับภูมิ เพราะวัตถุประสงค์สำคัญในการที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริจัดตั้งการศึกษานักธรรมขึ้นนั้น ก็เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ธรรมวินัยสมกับภูมิของตน กล่าวคือ

นักธรรมชั้นตรี
เพื่อให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนซึ่งยังอยู่ในภูมินวกะ มีพรรษาหย่อน ๕ มีความรู้ธรรมวินัยพอรักษาตัวได้
นักธรรมชั้นโท
เพื่อให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนซึ่งอยู่ในภูมิมัชฌิมะมีพรรษาเกิน ๕ มีความรู้ธรรมวินัยละเอียดกว้างขวางออกไปถึงขั้นพอช่วยแนะนำผู้อื่นได้
นักธรรมชั้นเอก
เพื่อให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนซึ่งอยู่ในภูมิเถระ มีพรรษาเกิน ๑๐ มีความรู้ธรรมวินัยละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงขั้นสามารถเป็นหลักในสังฆกรรม และเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ดูแลสั่งสอนผู้อื่นได้

เมื่อทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมขึ้นแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ทรงพระนิพนธ์หนังสือต่างๆ สำหรับใช้เป็นแบบเรียนของนักธรรมชั้นนั้นๆด้วย หนังสือบางเรื่องที่ยังทรงพระนิพนธ์ไม่เสร็จ ก็ทรงใช้หนังสืออื่นๆที่ใกล้เคียงกันเป็นตำราหรือแบบเรียนไปพลาง แม้นักธรรมชั้นเอกที่ตั้งขึ้นหลังจากพระองค์ชิ้นพระชนม์แล้ว พระองค์ก็ได้ทรงพระนิพนธ์ตำราสำหรับใช้เป็นหลักสูตรเตรียมไว้เกือบครบทุกวิชา หลักสูตรนักธรรมทุกชั้น ซึ่งได้ปรับปรุงมาโดยลำดับนั้นมาถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ จึงเป็นอันยุติได้ ดังนี้

หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี
เรียงความแก้กระทู้ธรรม ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต ธรรมวิภาค ใช้หนังสือนวโกวาท ตำนาน (พุทธประวัติ) ใช้หนังสือพุทธประวัติ เล่ม ๑-๓ หนังสือปฐมสมโพธิ ขอ'สมเด็จพระสังฆราช (สา) วินัยบัญญัติ ใช้หนังสือนวโกวาท
หลักสูตรนักธรรมชั้นโท
เรียงควาแก้กระทูธรรม ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต ธรรมวิภาค ใช้หนังสือธรรมวิภาค ปริจเฉทที่ ๒ ตำนาน (อนุพุทธประวัติ) ใช้หนังสืออนุพุทธประวัติ และหนังสือพุทธานุพุทธประวัติ เฉพาะประวัติพระสาวก หนังสือสังคีติกถาและ หนังสือปฐมสมโพธิ วินัยบัญญัติ ใช้หนังสือวินัยมุขเล่ม ๑๒
หลักสูตรนักธรรมชั้นเอก
เรียงความแก้กระทู้ธรรม ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต และหนังสือธรรมอื่นๆ มีมงคลวิเสสกถา เป็นต้น
ธรรมวิภาค ใช้หนังสือธรรมวิจารณ์ หนังสือสมถกรรมฐาน หนังสือมหาสติปัฏฐานสูตร และคิริมานนทสูตร แปล
ตำนาน (พุทธานุพุทธประวัติ) ใช้หนังสือพุทธประวัติเล่ม ๑-๓ หนังสือปฐมสมโพธิหนังสือพุทธานุพุทธประวัติ หนังสืออนุพุทธประวัติ และหนังสือสังคีติกถา
วินัยบัญญัติ ใช้หนังสือวินัยมุขเล่ม ๓ (หลักสูตรนักธรรมและเปรียญสำหรับใช้ในการศึกษาและสอบไล่ธรรมวินัย ของพระภิกษุสามเณร. พระยาภักดีนฤเบศร์ รวบรวม, ฉบับพิมพ์ครั้งแรก, พ.ศ. ๒๔๖๙. หน้า ก-ข.)

ถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการปรับปรุงในส่วนของวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมอีกครั้งหนึ่ง คือสำหรับนักธรรมชั้นโท กำหนดหัวข้อธรรมที่ต่างกัน ๒ ข้อ ให้นักเรียนแต่งเป็นทำนองเทศน์เชื่อมความ ๒ ข้อนั้นให้ต่อเนื่องกันสนิท และให้ชักภาษิตในที่อื่นมาอ้าง ๒ แห่ง อย่าให้ซ้ำกัน

สำหรับนักธรรมชั้นเอก กำหนดหัวข้อธรรมต่างกัน ๓ ข้อ ให้นักเรียนแต่งเป็นทำนองเทศน์ เชื่อมความ ๓ ข้อนั้น ให้ต่อเนื่องกันสนิท และชักภาษิตในที่อื่นมาอ้าง ๓ แห่ง อย่าให้ซ้ำกัน และในศกเดียวกันนี้ ได้เพิ่มเติมหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก คือให้สอบพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ อีกส่วนหนึ่ง และถือว่าเป็นวิชาสำคัญ ถ้าสอบวิชานี้ตกวิชาอื่นในชั้นเป็นอันตกไปด้วยกัน

หลักสูตรนักธรรมชั้นโทและชั้นเอกที่ปรับปรุงใหม่ดังกล่าวนี้ เริ่มใช้แต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นไป (ประวัติการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย. หน้า ๑๕๙๑๖๐.)

หลักสูตรธรรมศึกษาที่ใช้ในปัจจุบัน มีขอบข่ายการเรียนการสอนดังนี้

๑. วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม
หลักสูตร ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๒ มี ๕ หมวด คือ
๑) อัตตวรรค ๒) กัมมวรรค ๓) ขันติวรรค ๔) ปัญญาวรรค ๕) เสวนาวรรค

๒. วิชาธรรมวิภาค
หลักสูตร ใช้หนังสือธรรมวิภาค ปริเฉทที่ ๒ ชั้นนี้กำหนดให้เรียนหมวดธรรม ตามการปรับปรุงหลักสูตรธรรมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มีหมวดธรรม ดังนี้
ทุกะ หมวด ๒ - กัมมัฏฐาน ๒, กาม ๒, บูชา ๒, ปฏิสันถาร ๒
สุขติกะ หมวด ๓ - อกุศลวิตก ๓, กุศลวิตก ๓, อัคคิ ๓, อธิปเตยยะ ๓, ญาณ ๓, ตัณหา ๓, ปาฏิหาริยะ ๓, ปิฎก ๓, พุทธจริยา ๓, วัฏฏะ ๓, สิกขา ๓
จตุกกะ หมวด ๔ - อปัสเสนธรรม ๔, อัปปมัญญา ๔, พระอริยบุคคล ๔, โอฆะ ๔, กิจในอริยสัจ ๔, บริษัท ๔, บุคคล ๔, มรรค ๔, ผล ๔
ปัญจกะ หมวด ๕< - อนุปุพพิกถา ๕, มัจฉริยะ ๕, มาร ๕, เวทนา ๕
ฉันกะ หมวด ๖ - จริต ๖, ธรรมคุณ ๖
สัตตกะ หมวด ๗ - วิสุทธิ ๗, สัตตกะ หมวด ๗, วิสุทธิ ๗
อัฏฐกะ หมวด ๘ - อวิชชา ๘
นวกะ หมวด ๙ - พุทธคุณ ๙, สังฆคุณ ๙
ทสกะ หมวด ๑๐ - บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐
ทวาทสกะ หมวด ๑๒ - กรรม ๑๒

๓. วิชาอนุพุทธประวัติ
หลักสูตรใช้หนังสืออนุพุทธประวัติ พระนิพนธ์ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทวมหาเถร) และศาสนพิธีเล่ม ๒ ขององค์การศึกษา ชั้นนี้กำหนดให้เรียนประวัติของพระสาวกจำนวน ๔๐ รูป ตามการปรับปรุงหลักสูตรธรรมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ดังนี้
๑. พระอัญญาโกณฑัญญเถระ
๒. พระอุรุเวลกัสสปเถระ
๓. พระสารีบุตรเถระ
๔. พระมหาโมคคัลลานเถระ
๕. พระมหากัสสปเถระ
๖. พระมหากัจจายนเถระ
๗. พระโมฆราชเถระ
๘. พระราธเถระ
๙. พระปุณณมันตานีบุตรเถระ
๑๐. พระกาฬุทายีเถร
๑๑. พระนันทเถระ
๑๒. พระราหุลเถระ
๑๓. พระอุบาลีเถระ
๑๔. พระภัททิยเถระ
๑๕. พระอนุรุทธเถระ
๑๖. พระอานนทเถระ
๑๗. พระโสณโกฬิวิสเถระ
๑๘. พระรัฐบาลเถระ
๑๙. พระปิณโฑลภาระทวาชเถระ
๒๐. พระมหาปันถกเถระ
๒๑. พระจูฬปันถกเถระ
๒๒. พระโสณกุฏิกัณณเถระ
๒๓. พระลกุณฏกภัททิยเถระ
๒๔. พระสุภูติเถระ
๒๕. พระกังขาเรวตเถระ
๒๖. พระโกณฑธานเถระ
๒๗. พระวังคีสเถระ
๒๘. พระปิลินทวัจฉเถระ
๒๙. พระกุมารกัสสปเถระ
๓๐. พระมหาโกฏฐิตเถระ
๓๑. พระโสภิตเถระ
๓๒. พระนันกเถระ
๓๓. พระมหากัปปินเถระ
๓๔. พระสาคตเถระ
๓๕. พระอุปเสนเถระ
๓๖. พระขทิรวนยเรวตเถระ
๓๗. พระสีวลีเถระ
๓๘. พระวักกลิเถระ
๓๙. พระพาหยทารุจีริยเถระ
๔๐. พระพากุลเถระ

๔. วิชาวินัย (อโบสถศีล) หลักสูตร ใช้หนังสืออุโบสถศีลของพระศรีรัตนโมลี (ชัยวัฒน์ ปญฺญาสิริ)

วิธีการศึกษา
๑. ศึกษาเนื้อหาไปตามลำดับ และทำแบบทดสอบในแต่ละตอน เสร็จแล้วตรวจตำตอบจากเฉลยท้ายบทเรียน
๒. ฟังการบรรยาย-สอบถาม พระอาจารย์หรือท่านผู้รู้
๓. ค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

การประเมินผล
๑. ทำแบบทดสอบก่อนและหลังเรียน
๒. เข้าฟังบรรยายในชั้นเรียน (กรณีที่มีการเรียนการสอน)
๓. สังเกตจากพฤติกรรม ตลอดถึงทัศนคติของผู้เรียน
๔. เข้าสอบธรรมสนามหลวง
๕. ผุ้เรียนนำหลักธรรมคำสอนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

เกณฑ์การตัดสินสอบได้ – สอบตก
๑. การให้คะแนนธรรมศึกษาทุกชั้น มีหลักเกณฑ์ดังนี้
๑.๑. ธรรมศึกษาทุกชั้นให้ถือ ๔๐๐ คะแนนเป็นเกณฑ์ วิชาทุกวิชาคะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนนเมื่อรวมคะแนนของทั้ง ๔ วิชาแล้ว ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ คะแนน ถือว่าสอบได้ ต่ำกว่า ๒๐๐คะแนน ถือว่าสอบตก
๑.๒. ธรรมศึกษาทุกชั้น เมื่อตรวจดูคะแนนของแต่ละวิชาที่ได้แล้วหากมีวิชาใดวิชาหนึ่งได้คะแนนต่ำกว่า ๒๕ คะแนน แม้จะรวมครบทุกวิชาแล้วได้เกินกว่าที่กำหนดก็ตาม ให้ถือว่าการสอบครั้งนี้เป็นการสอบตกด้วย
๑.๓. ธรรมศึกษาทุกชั้น ต้องสอบทั้ง ๔ วิชา ถ้าขาดสอบวิชาใดวิชาหนึ่ง สนามหลวงแผนกธรรมไม่รับพิจารณา ให้อยู่ในเกณฑ์สอบตก
๑.๔. วิชาที่ตอบต้องได้คะแนนทุกวิชา จึงจะยอมรับรวมคะแนนได้ หากเกิดวิชาใดวิชาหนึ่งไม่ได้คะแนนแม้แต่คะแนนเดียว หรือได้ต่ำกว่า ๒๕ คะแนนก็ห้ามรวมคะแนน ปรับเป็นตก แม้รวมทุกวิชาแล้ว จะได้คะแนนสูงสุดถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็ตาม

วิธีตรวจในสนามหลวง
การตรวจประโยคธรรมสนามหลวงและธรรมศึกของสนามหลวงความประสงค์เพื่อทราบความรู้ของนักเรียนตามความเป็นจริง เป็นทางให้ผู้ศึกษาเจริญในวิทยาคุณและจริยสมบัติ สืบอายุพระพุทธศาสนนิกชนที่ดีต่อไป

ข้อสอบของธรรมศึกษาทุกชั้น เว้นเรียงความแก้กระทู้ธรรม ปัญหาที่ออกสอบเป็นแบบปรนัย คือ เลือกคำตอบที่บอกมาแล้วในแต่ละข้อ แต่ต้องเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด ในแต่ละข้อซึ่งมีที่ถูกที่สุดเพียงข้อละคำตอบเดียว นักเรียนจะต้องเลือตอบข้อที่ถูกเท่านั้น เลือกตอบผิดเป็นไม่ได้คะแนน เป็นการถามทั้งความรู้ ความเข้าใจ ความจำ และความคิดไปในตัวด้วยเฉพาะใบคำตอบของธรรมศึกษาทุกชั้น เว้นแต่กระทู้ ข้อสอบปต่ละวิชามี ๕๐ ข้อ ๆละ ๒ คะแนน ให้ตรวจไปตามใบเฉลยฉบับที่เฉลยไว้ให้ ตรวจแต่ละฉบับ แล้วให้นับข้อรวม

ในกรณีที่นักเรียนธรรมศึกษากากบาทลงในช่องคำตอบในข้อเดียวกันหลายคำตอบ ถือว่าข้อนั้น ๆ เป็นผิดไม่ได้คะแนน หากมีรอยขูด ลบ ขีด ฆ่าไว้แต่พอเป็นหลักฐานให้ทราบว่านักเรียนตกลงใจตอบในข้อไหนได้ ก็ให้ตรวจไปตามนั้น